Schlieffen Plan (-)

แผนชลีฟเฟิน (-)

แผนชลีฟเฟินเป็นแผนยุทธศาสตร์การทำสงครามบนภาคพื้นยุโรปซึ่งจอมพล เคานต์อัลเฟรด ฟอน ชลีฟเฟิน (Alfred von Schlieffen) หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารเป็นผู้จัดทำและมอบให้กองทัพบกเยอรมันพิจารณาก่อนที่เขาจะเกษียณจากกองทัพในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ เป็นแผนที่เตรียมไว้เพื่อการทำสงครามในกรณีที่ฝรั่งเศสซึ่งมีรัสเซียเป็นพันธมิตรใน ค.ศ. ๑๘๙๔ ต้องการก่อสงครามล้างแค้นเยอรมนี แผนชลีฟเฟินมุ่งการทำลายล้างฝรั่งเศสภายในระยะเวลาอันรวดเร็วด้วยยุทธวิธีการรบแนวรุกที่เน้นการเคลื่อนไหวของกำลังพลจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็วโดยป้องกันไม่ให้เยอรมนีต้องทำศึก ๒ ด้านกับทั้งฝรั่งเศสและรัสเซีย แผนยุทธศาสตร์นี๋ได้รับการยกย่องว่าเป็น “อัจฉริยะทางยุทธศาสตร์ระดับปรมาจารย์” (masterly strategic genius) ที่กองทัพเยอรมันกำหนดให้เป็นแผนการรบหลักเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* อุบัติขึ้น

 จอมพล ชลีฟเฟินดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๑-๑๙๐๕ ก่อนหน้านี้และตลอดระยะเวลาของการเป็นนายทหารระดับสูง เขาได้เห็นจักรวรรดิเยอรมันมิความมั่นคงแข็งแกร่งในทุก ๆ ด้านโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการทหาร และยิ่งมาถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อกับคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จักรวรรดิเยอรมันได้กลายเป็นมหาอำนาจชั้นนำ มีพลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมสูง มีกองทัพบกที่แข็งแกร่งและจาก ค.ศ. ๑๘๙๗ ก็เริ่มสร้างกองทัพเรือในทะเลเหนือซึ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประเทศยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ชลีฟเฟินยังตระหนักดีว่าไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* ทรงเป็นประมุขที่มีความเชื่อมั่นในกองทัพและในศักยภาพของจักรวรรดิ นโยบายการต่างประเทศและการทหารในรัชสมัยของพระองค์จึงมีลักษณะแข็งกร้าวและเป็นนโยบายขยายอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดิเยอรมันไปทั่วโลก อย่างไรก็ดี สิ่งที่เยอรมันหวั่นเกรงคือการเกิดสงครามบนภาคพื้นทวีปยุโรป ซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่จะทำลายความมั่นคงของจักรวรรดิเยอรมันได้ และมีความเป็นไปได้สูงที่สงครามครั้งใหม่จะเป็นส่วนหนึ่งของการที่ฝรั่งเศสต้องการเรียกคืนเกียรติภูมิที่สูญเสียจากการพ่ายแพ้ในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War)*

 ในทางการทูต การป้องกันสงครามกับฝรั่งเศสต้องทำให้ฝรั่งเศสปราศจากพันธมิตรและต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวขณะเดียวกันเยอรมนีก็ต้องสร้างระบบพันธมิตรขึ้น ซึ่งในสมัยที่เจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* เป็นอัครมหาเสนาบดี เขาประสบความสำเร็จในการโดดเดี่ยวฝรั่งเศสพร้อมไปกับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรให้กับเยอรมนีด้วยระบบบิสมาร์ค (Bismarckian System) อันซับซ้อน เป็นต้นว่าสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี (Dual Alliance ค.ศ. ๑๘๗๙)* ระหว่างเยอรมนีกับออสเตรีย-ฮังการี สันนิบาตสามจักรพรรดิ (Drei-kaiserbund - League of the Three Emperors ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๘๘๑, ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๘๘๗)* ระหว่างเยอรมนีกับออสเตรียและรัสเซีย และสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (Reinsurance Treaty ค.ศ. ๑๘๘๗-๑๘๙๐)* ระหว่างเยอรมนีกับรัสเซีย เมื่อสนธิสัญญาเหล่านี้ไม่ได้รับการต่อสัญญาก็เปิดทางให้มีการดำเนินนโยบายทางการทูตที่จะยุติการโดดเดี่ยวของฝรั่งเศส ความพยายามนี้บรรลุผล ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ เมื่อรัสเซียตอบรับข้อเสนอของฝรั่งเศสที่จะให้ทั้ง ๒ ประเทศ ปรึกษาหารือกันเมื่อเกิดสงครามตามสนธิสัญญาพันธไมตรีฝรั่งเศส-รัสเซีย (Franco-Russian Alliance) ซึ่งใน ค.ศ. ๑๘๙๔ ก็ได้ขยายเป็นความตกลงฝรั่งเศส-รัสเซีย (Franco-Russian Entente) โดยเป็นสัญญาลับทางทหารที่มุ่งต่อต้านการรวมตัวกันของฝ่ายสนธิสัญญาไตรพันธมิตร (Triple Alliance) อันประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี การแบ่งค่ายมหาอำนาจในยุโรปจึงปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่อังกฤษก็มีแนวโน้มที่อาจผละจากนโยบายโดดเดี่ยวด้วยการหาพันธมิตร เมื่อปรากฏว่าเยอรมนีมีนโยบายแข็งกร้าวทั้งในทางการทูตและการทหาร

 ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ สถานการณ์ในยุโรปส่อเค้าให้เห็นว่าเยอรมนีและพันธมิตรอาจต้องทำสงครามกับฝรั่งเศสและรัสเซีย ชลีฟเฟินและฝ่ายเสนาธิการทหารได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดพร้อมทั้งจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การทำสงครามไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับสถานการถให้ได้ทันห่วงที แผนชลีฟเฟินเป็นแผนหนึ่งที่ชลีฟเฟินทำขึ้นจากความเชื่อส่วนตัวของเขาว่า ประการที่ ๑ สงครามที่จะเกิดขึ้นจะเป็นสงครามที่เยอรมนีทำกับฝรั่งเศสและรัสเซียโดยอาจมีอังกฤษเข้าร่วมกับฝรั่งเศสด้วย ประการที่ ๒ สงครามนี้จะมีสนามรบที่ตัดสินการแพ้ชนะอยู่ในฝรั่งเศส ขณะที่การรบด้านรัสเซียเป็นไปเพียงเพื่อการป้องกันตนเองท่านั้น ประการที่ ๓ หากฝรั่งเศสถูกทำให้แพ้สงครามอย่างรวดเร็ว พันธมิตรของฝรั่งเศสก็แทบจะไม่มีโอกาสต้านทานเยอรมนีได้ และประการที่ ๔ แนวป้องกันด้านตะวันออกของฝรั่งเศสที่ติดกับเยอรมนีมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างยิ่งจนยากที่จะใช้กำลังใด ๆ ฝ่าฟันผ่านไปได้ เยอรมนีจึงจำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์การเอาชนะฝรั่งเศสด้วยการเปิดแนวรบด้านเหนือของฝรั่งเศสผ่านเบลเยียมสู่ด้านตะวันตกของฝรั่งเศสเข้าสู่กรุงปารีสแม้จะต้องละเมิดความเป็นกลางของเบลเยียมก็ตามหลักการสำคัญของแผนชลีฟเฟินคือการทำลายล้างฝรั่งเศสอย่างรวดเร็วฉับไวก่อนที่รัสเซียจะมีโอกาสขยับตัวทั้งนี้เพื่อปกป้องเยอรมนีไม่ให้ทำศึก ๒ ด้าน

 แผนชลีฟเฟินกำหนดรายละเอียดของยุทธวิธีในการตรึงกำลังในแนวรบด้านตะวันออกเพื่อกันรัสเซียจากการเข้าร่วมทำสงครามอย่างแท้จริง ขณะที่แนวรบด้านตะวันตกก็กำหนดยุทธวิธีการรุกรบแบบรวดเร็วที่ไม่เปิดโอกาสให้คู่สงครามรู้ตัว และใช้ยุทธวิธีการใช้กำลังพลจำนวนมากในการบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามไม่ให้มีโอกาสตั้งตัวได้ นอกจากนั้น แผนการบุกที่ใซ้เส้นทางจากทางเหนือของฝรั่งเศสโดยผ่านประเทศเล็กที่เป็นกลางแม้จะเสี่ยงต่อการถูกประณามและอาจเป็นข้ออ้างให้อังกฤษเข้าร่วมกับฝรั่งเศสก็ถือว่าคุ้มในทางการทหาร เพราะเป็นแนวรบด้านที่เปิด มีแนวป้องกันไม่แข็งแรง และสามารถบุกเข้ายึดกรุงปารีสได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่แนวรบด้านตะวันออกของฝรั่งเศสนั้น กองทัพเยอรมันอาจไม่สามารถฝ่าด่านไปได้โดยง่ายแม้ระยะทางจะไม่ต่างกันมากแผนชลีฟเฟินจึงกำหนดให้กองกำลังด้านนี้มีขึ้นเพื่อการป้องกันเช่นเดียวกับด้านรัสเซีย ซึ่งชลีฟเฟินเรียกแนวรบด้านตะวันออกทั้งหมดรวมทั้งด้านรัสเซียเป็นปีกซ้ายของการเดินทัพ ทำหน้าที่เพื่อการตรึงกำลังไว้เห่านั้น จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่มีจุดอ่อนในทัศนะของนักการทหารบางคนเพราะเสี่ยงเป็นอย่างมากต่อการจู่โจมของรัสเซียและฝรั่งเศส หากทั้ง ๒ ประเทศตัดสินใจใช้แนวรบด้านนั้นแต่แผนชลีฟเฟินก็ยอมรับการเสี่ยงนั้น ตราบเท่าที่ผู้ปฏิบัติการตามแผนยึดมั่นที่จะทำให้ปีกขวาของการเดินทัพเข้มแข็ง และสามารถเผด็จศึกได้ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวทางปีกซ้ายหรือแนวรบด้านตะวันออก

 เมื่อได้ส่งมอบแผนดังกล่าวให้กองทัพไปแล้ว ชลีฟเฟินก็ยังปรับปรุงรายละเอียดของแผนชลีฟเฟินอีกหลายครั้งแม้เขาจะเสียชีวิตไปก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ จะเกิดขึ้นในปีต่อมา หลังจากที่เยอรมนีบุกเบลเยียมในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ โดยมีนายพลอะเล็กซานเดอร์ ฟอน คลุค (Alexander von Kluck)* ผู้บัญชาการกองทัพที่ ๑ (First Army) รับผิดชอบในการรบและสามารถยึดครองเบลเยียมได้ภายในเวลาเพียง ๒ สัปดาห์ เยอรมนีก็บุกโจมตีฝรั่งเศสตามแผนชลีฟเฟินโดยนายพลคาร์ล ฟอน บือโลว์ (Karl von Bülow)* ผู้บัญชาการกองทัพที่ ๒ (Second Army) ร่วมประสานในยุทธการมุ่งสู่ฝรั่งเศสในปฏิบัติการครั้งนี้ เยอรมนีใช้กำลังทหารจำนวน ๑.๕ ล้านคน พร้อมกับอาวุธหลักที่ลำเลียงโดยระบบการขนส่งทางรถไฟ ซึ่งแม้จะช้าแต่ก็มีประสิทธิภาพมากในขณะนั้นขณะเดียวกันการวางแผนการรบและการปรับกำลังพลระหว่างปฏิบัติการอยู่ในความรับผิดชอบของนายพลเฮลมุท ฟอน มอลท์เคอ หนุ่ม (Helmuth von Moltke, the Younger) หลานชายของจอมพล เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน มอลท์เคอ (Helmuth Karl Bernhard von Moltke)* และเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารบัญชาการรบอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน

 ส่วนฝรั่งเศสมีจอมพล โชแซฟ ชาก-เซแซร์ ชอฟร์ (Joseph Jacques-Césaire Joffre)* เป็นผู้บัญชาการรบ มีกำลังพล ๑.๒ ล้านคน แบ่งเป็น ๕ กองทัพ ซึ่งใช้ยุทธวิธีรุกไล่กองทัพเยอรมันตลอดแนวชายแดนด้านเหนือ ด้านตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือโดยตั้งความหวังว่าขณะเดียวกันจะสามารถยึดดินแดนอัลซาซ (Alsace) และลอร์แรน (Lorraine) ที่สูญเสียไปให้กับเยอรมนีโนสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียกลับคืนมาให้ได้ส่วนแนวรบด้านเหนือและด้านตะวันตกกองทัพฝรั่งเศสส่วนหนึ่งพร้อมกองกำลังปฏิบัติการนอกประเทศของอังกฤษ (British Expeditionary Forces-BEF) ซึ่งเป็นทหารอาชีพจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คน ภายใต้การนำของเซอร์จอห์น เฟรนช์ (John French) ร่วมรับผิดชอบการปฏิบัติการรบ

 ในระยะแรกของการรบเพื่อพิชิตฝรั่งเศสที่เรียกว่า “ยุทธการตามแนวชายแดน” (Battle of Frontiers) ปรากฏว่ามีการประจัญบานกันอย่างดุเดือด ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างหนักแก่ทั้ง ๒ ฝ่าย ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๓ สิงหาคม ฝรั่งเศสสูญเสียกำลังพลจำนวน ๔๐,๐๐๐ คน โดยในวันที่ ๒๒ สิงหาคม เพียงวันเดียวต้องสูญเสียกำลังพลถึง ๒๗,๐๐๐ คน และฝ่ายเยอรมนีก็สูญเสียในจำนวนใกล้เคียงกัน แต่กองทัพเยอรมันอยู่โนฐานะได้เปรียบกว่า เพราะสามารถรุกไล่กองทัพฝรั่งเศสอย่างรวดเร็วจากทุก ๆ ด้าน และสามารถยึดพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสไว้ได้ ทำให้กองทัพเยอรมันเกิดความฮึกเหิม โดยเฉพาะกองทัพที่ ๑ ซึ่งรุกไล่กองทัพฝรั่งเศสอยู่ในแนวรบด้านตะวันตกได้บุกตะลุยรวดเร็วเกินไปเพื่อหวังจะยึดกรุงปารีสจากด้านตะวันตกและด้านใต้ จนทิ้งกองทัพที่ ๒ ในระยะห่างกันเกินควรจึงเปิดช่องให้ฝรั่งเศสซึ่งปรับกลยุทธ์จนสามารถพลิกสถานการณ์ให้ฝ่ายของตนอยู่โนฐานะได้เปรียบเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาเดียวกัน ฝ่ายเยอรมนีก็ปรับยุทธวิธีในแผนชลีฟเฟินที่เรียกว่า “โปรแกรมเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔” (September Program of 1914) ซึ่งรวมแผนการรบหลักเพื่อปกป้องเยอรมนีทั้ง ๒ ด้าน ซึ่งมีผลทำให้ปฏิบัติการเดินทัพทางปีกขวาอ่อนแอ ขณะที่ปีกซ้ายเข้มแข็งขึ้น

 ยุทธการที่แม่นํ้ามาร์นครั้งที่ ๑ (First Battle of the Marne)* ที่ใช้เวลาสั้น ๆ เพียง ๑ สัปดาห์โนเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ทำให้แผนชลีฟเฟินซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักของการทำสงครามกับฝรั่งเศสหมดบทบาทและความสำคัญลง เพราะยุทธการครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติการรบของฝ่ายเยอรมนีที่แม้จะยังคงใช้กำลังพลจำนวนมหาศาลเหมือนเดิม แต่ไม่ได้ระดมสรรพกำลังไปไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว หากแต่ได้มีการกระจายกำลังพลที่มีทั้งหมด ๗ กองทัพออกปฏิบัติการในแนวรบหลายด้านพร้อม ๆ กัน ฝรั่งเศสจึงสามารถสกัดกั้นการรุกรบอย่างรวดเร็วของเยอรมนีตามแผนชลีฟเฟินและยุติความใฝ่ฝันของเยอรมนีที่จะทำลายล้างฝรั่งเศสให้สิ้นซากภายในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสก็ทำได้เพียงแต่หยุดยั้งการรุกรานของกองทัพเยอรมันไว้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น และต่อมาทั้ง ๒ ฝ่ายก็เริ่มขุดสนามเพลาะเป็นแนวรบป้องกันตนเอง การรบจึงถูกตรึงอยู่กับที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงเข้าสู่มิติใหม่ที่พลิกความคาดหมายของทุกฝ่าย เพราะได้กลายเป็นสงครามสนามเพลาะ (trench warfare) ที่ยืดเยื้อและไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของกำลังพลจำนวนมากอีกต่อไป

 การพลิกผันของสถานการณ์และการที่แผนชลีฟเฟินไม่อาจสนองประโยชน์ให้กับการดำเนินการรบได้อย่างที่ควรทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงการทหารและนักประวัติศาสตร์สงครามว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายเสนาธิการทหารเยอรมันและโดยเฉพาะนายพลมอลท์เคอที่ปรับแผนชลีฟเฟินจนทำให้แผนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแผนอัจริยะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตาม แม้เมื่อเวลาผ่านเลยมาช้านาน แผนชลีฟเฟินก็ยังคงอยู่ในความสนใจและใช้เป็นกรณีตัวอย่างในการศึกษาประวัติศาสตร์สงครามของยุโรป ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ศาสตราจารย์แกร์ฮาร์ด ริทเทอร์ (Gerhard Ritter) นักประวัติศาสตร์แนวคิดอนุรักษนิยมชาวเยอรมนี ซึ่งเคยเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้จัดพิมพ์แผนชลีฟเฟินฉบับสมบูรณ์พร้อมข้อสังเกตและความคิดเห็นบางประการของจอมพล ชลีฟเฟินและนายพลมอลท์เคอ รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นส่วนตัวของเขาด้วย ริทเทอร์แสดงความสงสัยเกี่ยวกับความเป็นอัจฉริยะของแผนชลีฟเฟินว่าควรเป็นได้มากน้อยเพียงใด เพราะแผนดังกล่าวไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรกับความเข้มแข็งของรัสเซีย อังกฤษ หรือแม้แต่ฝรั่งเศสซึ่งเมื่อถึงภาวะคับขันประเทศเหล่านั้นก็สามารถพัฒนาศักยภาพให้ถึงขีดความสามารถที่จะทำให้เยอรมนีพ่ายแพ้ได้ นอกจากนั้น เขายังเห็นว่าแผนชลีฟเฟินมีจุดอ่อนอีกหลายประการที่แม้ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขก็ไม่อาจทำให้เยอรมนีบรรลุเป้าหมายในการทำสงครามกับฝรั่งเศสได้ เขาจึงเห็นด้วยกับอีกหลายคนที่เชื่อว่ามอลท์เคอก็เป็นเพียงแพะรับบาปในปฏิบัติการแผนชลีฟเฟินเท่านั้น.



คำตั้ง
Schlieffen Plan
คำเทียบ
แผนชลีฟเฟิน
คำสำคัญ
- คลุค, อะเล็กซานเดอร์ ฟอน
- ความตกลงฝรั่งเศส-รัสเซีย
- ชอฟร์, จอมพล โชแซฟ ชาก-เซแซร์
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- บือโลว์, คาร์ล ฟอน
- โปรแกรมเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔
- แผนชลีฟเฟิน
- มอลท์เคอ, จอมพล เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน
- มอลท์เคอ, เฮลมุท ฟอน
- ยุทธการที่แม่นํ้ามาร์นครั้งที่ ๑
- ระบบบิสมาร์ค
- ริทเทอร์, แกร์ฮาร์ด
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามสนามเพลาะ
- สนธิสัญญาไตรพันธมิตร
- สนธิสัญญาประกันพันธไมตรี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีฝรั่งเศส-รัสเซีย
- สันนิบาตสามจักรพรรดิ
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-